รายงานผลโครงการสถานศึกษาปลอดภัย “การจัดการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน” ตามแนวคิดมนุษย์ปัจจัย (Human Factor) Train the Trainer for Road Safety Instructor Thailand ภายใต้โครงการ Thailand Safe Youth Program ประจำปีการศึกษา 2566

รายงานผลโครงการสถานศึกษาปลอดภัย “การจัดการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน” ตามแนวคิดมนุษย์ปัจจัย (Human Factor) Train the Trainer for Road Safety Instructor Thailand ภายใต้โครงการ Thailand Safe Youth Program
ประจำปีการศึกษา 2566
วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

หลักการและเหตุผล

โครงการ “Thailand Safe Youth” จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานในทุกระดับในการพัฒนาศักยภาพผู้ทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ควรขับเคลื่อนอย่างมีแผนงาน มีแนวทาง วิธีการ รวมถึงการเป็นวิทยากรมืออาชีพในการฝึกหัดนักขับขี่มือใหม่ให้มีคุณภาพ และการฝึกอบรมการขับขี่รถจักรยานยนต์ของเด็กและเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากส่วนใหญ่เด็กและเยาวชนจะเรียนรู้การขับรถจาก พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อน และไปฝึกหัดขับเอง โดยไม่ผ่านการฝึกอบรมการขับขี่ปลอดภัยภายใต้หลักสูตรและวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม ที่มีประสิทธิภาพและวัดผลได้ ไม่เพียงเรียนรู้การขับรถให้เป็นเท่านั้นการมีทัศคติ และทักษะขับขี่เพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยบนท้องถนนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนและวางรากฐานวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กและเยาวชนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันอุบัติภัยจากการจราจรก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในปีหนึ่งๆ อย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุจราจรอันเนื่องมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเด็กและเยาวชน อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าในการพัฒนาประเทศ แต่ต้องมาเสียชีวิตบาดเจ็บ และพิการก่อนที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และจากการวิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย พบว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจร คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย มีการเสพสารเสพติด มึนเมา ประมาท คึกคะนอง และไม่เคารพกฎจราจร ประกอบกับสภาพของรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยก่อให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ด้านผลการสำรวจข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยของประชาชน พบว่า มีค่าเฉลี่ยการสวมหมวกนิรภัยบนท้องถนน เพียงร้อยละ 40 เท่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี มีอัตราการไม่สวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์สูง จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่เกิดการบาดเจ็บรุนแรงอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการขับขี่ปลอดภัยใส่ใจกฎจราจร เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความตระหนักและปลูกจิตสำนึกให้แก่นักเรียนในเรื่องของกฎหมายจราจร การรักษาวินัยในการขับขี่ การรู้จักป้องกันตัวเองขณะขับขี่ยานพาหนะและสร้างเครือข่ายแกนนำเด็ก เยาวชน ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้กับเด็กหรือเยาวชนคนอื่นๆในเรื่องของการป้องกันอุบัติภัยจากการจราจร

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “การจัดการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน” ตามแนวคิดมนุษย์ปัจจัย (Human Factor) Train the Trainer for Road Safety Instructor Thailand ภายใต้โครงการ Thailand Safe Youth Program ประจำปีการศึกษา 2566 ในการพัฒนาทักษะชีวิต พิชิตความเสี่ยงและความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการขับขี่เพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยบนท้องถนนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนในการวางรากฐานวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กและเยาวชนมากขึ้นรวมทั้งมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาจราจรและลดปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายและชุมชน ทั้งในแง่ของความเข้มแข็งและความต่อเนื่องในการมีส่วนร่วม และศักยภาพในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดการศึกษาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และมาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานครั้งนี้

รายงานผลโครงการสถานศึกษาปลอดภัย